การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน
(PROJECT-BASED
LEARNING)
ความหมาย
vertical-CMK-logo-on-whiteการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่มีครูเป็นผู้กระตุ้นเพื่อนำความสนใจที่เกิดจากตัวนักเรียนมาใช้ในการทำกิจกรรมค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวนักเรียนเอง
นำไปสู่การเพิ่มความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติ
การฟังและการสังเกตุจากผู้เชี่ยวชาญ
โดยนักเรียนมีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม ที่จะนำมาสู่การสรุปความรู้ใหม่
มีการเขียนกระบวนการจัดทำโครงงานและได้ผลการจัดกิจกรรมเป็นผลงานแบบรูปธรรม (ดุษฎี
โยเหลาและคณะ, 2557: 19-20)
ลักษณะเด่น
การเรียนรู้แบบโครงงาน
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจมากในปัจจุบัน McDonell (2007)
ได้กล่าวว่า การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นรูปแบบหนึ่งของ Child- centered
Approach ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานตามระดับทักษะที่ตนเองมีอยู่
เป็นเรื่องที่สนใจและรู้สึกสบายใจที่จะทำ
นักเรียนได้รับสิทธิในการเลือกว่าจะตั้งคำถามอะไร
และต้องการผลผลิตอะไรจากการทำงานชิ้นนี้ โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์และจัดประสบการณ์ให้แก่นักเรียน
สนับสนุนการแก้ไขปัญหา และสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียน โดยลักษณะของการเรียนรู้แบบโครงงาน มีดังนี้
-นักเรียนกำหนดการเรียนรู้ของตนเอง
-เชื่อมโยงกับชีวิตจริง
สิ่งแวดล้อมจริง
-มีฐานจากการวิจัย หรือ
องค์ความรู้ที่เคยมี
-ใช้แหล่งข้อมูล หลายแหล่ง
-ฝังตรึงด้วยความรู้และทักษะบางอย่าง
(embedded
with knowledge and skills)
-ใช้เวลามากพอในการสร้างผลงานมีผลผลิต
แนวคิดสำคัญ
การเรียนรู้แบบโครงงานนั้น
มีแนวคิดสอดคล้องกับ John
Dewey เรื่อง “learning by doing” ซึ่งได้กล่าวว่า
“Education is a process of living and not a preparation for future
living.” (Dewey John, 1897: 79 cite in Douladeli
Efstratia, 2014)
ซึ่งเป็นการเน้นการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ชีวิตขณะที่เรียน
เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพัฒนาการคิดของ Bloom
ทั้ง 6 ขั้น คือ ความรู้ความจำ (Remembering) ความเข้าใจ
(understanding) การประยุกต์ใช้ (Applying) การวิเคราะห์ (Analyzing) การประเมินค่า (Evaluating)
และ การคิดสร้างสรรค์ (Creating) ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน
นั้นจึงเป็นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็น การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
เนื่องจากผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะต่างๆด้วยตนเองทุกขั้นตอน
โดยมีครูเป็นผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้
การเตรียมตัวของครูก่อนการจัดการเรียนรู้
ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง
ครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมและมีความแม่นยำในเนื้อหาเพื่อให้การจัดการเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น
และสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ขณะกิจกรรม
ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว มีแนวทางในการจัดการเรียนรู้ 2 รูปแบบ คือ
การจัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน และการจัดกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน
เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเลือกศึกษาโครงงานจากสิ่งที่สนใจอยากรู้ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน
สิ่งแวดล้อมในสังคม หรือจากประสบการณ์ต่างๆที่ยังต้องการคำตอบ ข้อสรุป
ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้ในบทเรียนของหลักสูตร มีขั้นตอนดังนี้
– ตรวจสอบ วิเคราะห์ พิจารณา รวบรวม ความสนใจ
ของผู้เรียน
– กำหนดประเด็นปัญหา/ หัวข้อเรื่อง
– กำหนดวัตถุประสงค์
– ตั้งสมมติฐาน
– กำหนดวิธีการศึกษาและแหล่งความรู้
– กำหนดเค้าโครงของโครงงาน
– ตรวจสอบสมมติฐาน
– สรุปผลการศึกษาและการนำไปใช้
– เขียนรายงานวิจัยแบบง่ายๆ
– จัดแสดงผลงาน
การจัดกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้
เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยยึดเนื้อหาสาระตามที่หลักสูตรกำหนด ผู้เรียนเลือกทำโครงงานตามที่สาระการเรียนรู้
จากหน่วยเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน นำมาเป็นหัวข้อโครงงาน
มีขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการดังต่อไปนี้
– ศึกษาเอกสาร หลักสูตร คู่มือครู
– วิเคราะห์หลักสูตร
– วิเคราะห์คำอิบายรายวิชา เพื่อแยกเนื้อหา
จุดประสงค์และจัดกิจกรรมให้เด่นชัด
– จัดทำกำหนดการสอน
– เขียนแผนการจัดการเรียนรู้
– ผลิตสื่อ
จัดหาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
– จัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเริ่มตั้งแต่
แจ้งวัตถุประสงค์ กรระตุ้นความสนใจของผู้เรียน จัดกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจ
การใช้คำถามกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อ
บทบาทของครูในฐานะผู้กระตุ้นการเรียนรู้
– จัดแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
– บันทึกผลการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน
การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐานนั้น
มีกระบวนการและขั้นตอนแตกต่างกันไปตามแต่ละทฤษฎี
ซึ่งในคู่มือการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐานฉบับนี้ ขอนำเสนอ 3
แนวคิดที่ถูกพิจารณาแล้วเหมาะสมกับบริบทของเมืองไทย คือ 1.
การจัดการเรียรู้แบบใช้โครงงาน ของ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ (2550) 2. ขั้นการจัดการเรียนรู้
ตาม โมเดล จักรยานแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ของ วิจารณ์ พาณิช(2555) และ
3. การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน
ที่ได้จากโครงการสร้างชุดความรู้เพื่อสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ของเด็กและเยาวชน: จากประสบการณ์ความสำเร็จของโรงเรียนไทย ของ ดุษฎี โยเหลาและคณะ
(2557) ดังนี้
แนวคิดที่ 1
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งได้นำเสนอขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ภาพ 1
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ
1.
ขั้นนำเสนอ หมายถึง ขั้นที่ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาใบความรู้ กำหนดสถานการณ์
ศึกษาสถานการณ์ เล่นเกม ดูรูปภาพ
หรือผู้สอนใช้เทคนิคการตั้งคำถามเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่กำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละแผน
เช่น สาระการเรียนรู้ตามหลักสุตรและสาระการเรียนรู้ที่เป็นขั้นตอนของโครงงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการเรียนรู้
2.
ขั้นวางแผน หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนร่วมกันวางแผน โดยการระดมความคิด
อภิปรายหารือข้อสรุปของกลุ่ม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
3.
ขั้นปฏิบัติ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรม เขียนสรุปรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการวางแผนร่วมกัน
4.
ขั้นประเมินผล หมายถึง ขั้นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง
โดยให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ โดยมีผู้สอน
ผู้เรียนและเพื่อนร่วมกันประเมิน
แนวคิดที่ 2
ขั้นการจัดการเรียนรู้ ตาม โมเดล จักรยานแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ของ
วิจารณ์ พาณิช (2555:71-75) ซึ่งแนวคิดนี้ มีความเชื่อว่า
หากต้องการให้การเรียนรู้มีพลังและฝังในตัวผู้เรียนได้
ต้องเป็นการเรียนรู้ที่เรียนโดยการลงมือทำเป็นโครงการ (Project) ร่วมมือกันทำเป็นทีม และทำกับปัญหาที่มีอยู่ในชีวิตจริง ซึ่ง ส่วนของ
วงล้อ แต่ละชิ้น ได้แก่ Define, Plan, Do, Review และ Presentation
ภาพ 2 โมเดล
จักรยานแห่งการเรียนรู้แบบ PBL
1. Define คือ
ขั้นตอนการทำให้สมาชิกของทีมงาน ร่วมทั้งครูด้วยมีความชัดเจนร่วมกันว่า คำถาม
ปัญหา ประเด็น ความท้าทายของโครงการคืออะไร และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อะไร
2. Plan คือ
การวางแผนการทำงานในโครงการ ครูก็ต้องวางแผน กำหนดทางหนีทีไล่ในการทำหน้าที่โค้ช
รวมทั้งเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำโครงการของนักเรียน และที่สำคัญ
เตรียมคำถามไว้ถามทีมงานเพื่อกระตุ้นให้คิดถึงประเด็นสำคัญบางประเด็นที่นักเรียนมองข้าม
โดยถือหลักว่า ครูต้องไม่เข้าไปช่วยเหลือจนทีมงานขาดโอกาสคิดเองแก้ปัญหาเอง
นักเรียนที่เป็นทีมงานก็ต้องวางแผนงานของตน แบ่งหน้าที่กัรับผิดชอบ
การประชุมพบปะระหว่างทีมงาน การแลกเปลี่ยนข้อค้นพบแลกเปลี่ยนคำถาม
แลกเปลี่ยนวิธีการ ยิ่งทำความเข้าใจร่วมกันไว้ชัดเจนเพียงใด งานในขั้น Do ก็จะสะดวกเลื่อนไหลดีเพียงนั้น
3. Do คือ
การลงมือทำ มักจะพบปัญหาที่ไม่คาดคิดเสมอ
นักเรียนจึงจะได้เรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหา การประสานงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม
การจัดการความขัดแย้ง ทักษะในการทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด
ทักษะในการค้นหาความรู้เพิ่มเติมทักษะในการทำงานในสภาพที่ทีมงานมีความแตกต่างหลากหลาย
ทักษะการทำงานในสภาพกดดัน ทักษะในการบันทึกผลงาน ทักษะในการวิเคราะห์ผล
และแลกเปลี่ยนข้อวิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทีม เป็นต้น
ในขั้นตอน Do นี้ ครูเพื่อศิษย์จะได้มีโอกาสสังเกตทำความรู้จักและเข้าใจศิษย์เป็นรายคน
และเรียนรู้หรือฝึกทำหน้าที่เป็น “วาทยากร” และโค้ชด้วย
4. Review คือ
การที่ทีมนักเรียนจะทบทวนการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่ทบทวนว่า
โครงการได้ผลตามความมุ่งหมายหรือไม่ แต่จะต้องเน้นทบทวนว่างานหรือกิจกรรม
หรือพฤติกรรมแต่ละขั้นตอนได้ให้บทเรียนอะไรบ้าง
เอาทั้งขั้นตอนที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลวมาทำความเข้าใจ
และกำหนดวิธีทำงานใหม่ที่ถูกต้องเหมาะสมรวมทั้งเอาเหตุการณ์ระทึกใจ
หรือเหตุการณ์ที่ภาคภูมิใจ ประทับใจ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
ขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้แบบทบทวนไตร่ตรอง (reflection) หรือในภาษา
KM เรียกว่า AAR (After Action Review)
5. Presentation คือ
การนำเสนอโครงการต่อชั้นเรียน เป็นขั้นตอนที่ให้การเรียนรู้ทักษะอีกชุดหนึ่ง
ต่อเนื่องกับขั้นตอน Review เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการทบทวนขั้นตอนของงานและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น
แล้วเอามานำเสนอในรูปแบบที่เร้าใจ ให้อารมณ์และให้ความรู้ (ปัญญา)
ทีมงานของนักเรียนอาจสร้างนวัตกรรมในการนำเสนอก็ได้ โดยอาจเขียนเป็นรายงาน
และนำเสนอเป็นการรายงานหน้าชั้น มี เพาเวอร์พอยท์ (PowerPoint) ประกอบ หรือจัดทำวีดิทัศน์นำเสนอ หรือนำเสนอเป็นละคร เป็นต้น
“Project-Based Learning
increases long-term retention, improves problem-solving and collaboration
skills, and improves students’ attitudes towards learning.”
(Strobel , 2009)
แนวคิดที่ 3
การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน ที่ปรับจากการศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ที่ได้จากโครงการสร้างชุดความรู้เพื่อสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่
21 ของเด็กและเยาวชน: จากประสบการณ์ความสำเร็จของโรงเรียนไทย ของ ดุษฎี
โยเหลาและคณะ (2557) โดยมีทั้งหมด 6
ขั้นตอน ดังนี้
ภาพ 3
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน
(ปรับปรุงจาก ดุษฎี โยเหลาและคณะ, 2557: 20-23)
ในการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐานครั้งนี้
ได้นำแนวคิดที่ปรับปรุงจาก ดุษฎี โยเหลาและคณะ (2557: 20-23)
ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นมาจากการศึกษาโรงเรียนในประเทศไทย
โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นให้ความรู้พื้นฐาน
ครูให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำโครงงานก่อนการเรียนรู้
เนื่องจากการทำโครงงานมีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจนและรัดกลุม
ดังนั้นนักเรียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับโครงงานไว้เป็นพื้นฐาน
เพื่อใช้ในการปฏิบัติขณะทำงานโครงงานจริง ในขั้นแสวงหาความรู้
2. ขั้นกระตุ้นความสนใจ
ครูเตรียมกิจกรรมที่จะกระตุ้นความสนใจของนักเรียน
โดยต้องคิดหรือเตรียมกิจกรรมที่ดึงดูดให้นักเรียนสนใจ ใคร่รู้
ถึงความสนุกสนานในการทำโครงงานหรือกิจกรรมร่วมกัน
โดยกิจกรรมนั้นอาจเป็นกิจกรรมที่ครูกำหนดขึ้น
หรืออาจเป็นกิจกรรมที่นักเรียนมีความสนใจต้องการจะทำอยู่แล้ว
ทั้งนี้ในการกระตุ้นของครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนเสนอจากกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ผ่านการจัดการเรียนรู้ของครูที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่หรือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
3. ขั้นจัดกลุ่มร่วมมือ ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันแสวงหาความรู้
ใช้กระบวนการกลุ่มในการวางแผนดำเนินกิจกรรม
โดยนักเรียนเป็นผู้ร่วมกันวางแผนกิจกรรมการเรียนของตนเอง โดยระดมความคิดและหารือ
แบ่งหน้าที่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน หลังจากที่ได้ทราบหัวข้อสิ่งที่ตนเองต้องเรียนรู้ในภาคเรียนนั้นๆเรียบร้อยแล้ว
4. ขั้นแสวงหาความรู้
ในขั้นแสวงหาความรู้มีแนวทางปฏิบัติสำหรับนักเรียนในการทำกิจกรรม ดังนี้
นักเรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมโครงงาน
ตามหัวข้อที่กลุ่มสนใจ
นักเรียนปฏิบัติหน้าที่ของตนตามข้อตกลงของกลุ่ม
พร้อมทั้งร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรม
โดยขอคำปรึกษาจากครูเป็นระยะเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาเกิดขึ้น
นักเรียนร่วมกันเขียนรูปเล่ม
สรุปรายงานจากโครงงานที่ตนปฏิบัติ
5.
ขั้นสรุปสิ่งที่เรียนรู้
ครูให้นักเรียนสรุปสิ่งที่เรียนรู้จากการทำกิจกรรม โดยครูใช้คำถาม
ถามนักเรียนนำไปสู่การสรุปสิ่งที่เรียนรู้
6. ขั้นนำเสนอผลงาน ครูให้นักเรียนนำเสนอผลการเรียนรู้
โดยครูออกแบบกิจกรรมหรือจัดเวลาให้นักเรียนได้เสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้
เพื่อให้เพื่อนร่วมชั้น
และนักเรียนอื่นๆในโรงเรียนได้ชมผลงานและเรียนรู้กิจกรรมที่นักเรียนปฏิบัติในการทำโครงงาน
ตอนต่อไปจะได้กล่าวถึง
บทบาทสำคัญ ของครูในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้
เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ว่า
ครูจะต้องแสดงบทบาทต่างๆ อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น